งานเตรียมพล

การเตรียมพลมีความหมายถึงการระดมพลเพื่อเข้ารับการตรวจสอบ เข้ารับการฝึกวิชาทหาร หรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของทหารกองหนุน

ประเภทของการเตรียมพล

  • การเรียกพลเพื่อตรวจสอบ ผู้มีหน้าที่เข้ารับการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ คือ นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน, นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ, นายทหารประทวนและพลทหารกองหนุนประเภทที่ 1, พลทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ซึ่งเคยเข้ารับราชการกองประจำการ และทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ซึ่งเคยเข้าการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหารแล้ว ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบสภาพ ตรวจสอบบัญชี ซักซ้อมระเบียบการ และเพื่อก่อให้เกิดผลสมบูรณ์ในการที่จะปฏิบัติการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร หรือการเรียกพลเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม หรือการระดมพลตามแผน ในการนี้ มีกำหนดไม่เกิน 1 วัน ซึ่งกระทำในยามปกติ
  • การเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ผู้มีหน้าที่เข้ารับการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร คือ นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน, นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ, นายทหารประทวนกองหนุน, พลทหารกองหนุนประเภทที่ 1, นายทหารกองหนุนประเภทที่ 2 และทหารกองเกิน  เพื่อรับการฝึกหรือทบทวนวิชาทหาร เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มีกำหนดไม่เกิน 60 วัน โดยกระทำในยามปกติ
  • การเรียกพลเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม ผู้มีหน้าที่เข้ารับการเรียกพลเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม คือ นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน, นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ, นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง, นายทหารประทวนกองหนุนและพลทหารกองหนุนประเภทที่ 1, พลทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ซึ่งเคยเข้ารับราชการกองประจำการ และทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ซึ่งเคยเข้าการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร, ทหารกองเกิน ซึ่งเคยเข้ารับการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหารแล้ว, ทการกองเกิน ซึ่งยังไม่เคยเข้ารับการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อทดสอบแผน หรือเตรียมรับสถานการณ์ เพื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามแผนที่กำหนด มีกำหนดไม่เกิน 60 วัน ซึ่งกระทำในยามปกติ และยามสถานการณ์คับขัน
  • การระดมพล ผู้มีหน้าที่เข้ารับการระดมพล คือ นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน, นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ, นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง, นายทหารประทวนกองหนุนและพลทหารกองหนุนประเภทที่ 1, นายทหารกองหนุนประเภทที่ 2, และทหารกองเกิน เพื่อเข้าบรรจุหน่วยทหารในยามที่ประเทศชาติอยู่ในสถานการณ์คับขัน และขยายกำลังตามอัตราสงคราม

  

 

การเรียกพลตามข้อบังคับนี้ ผู้มีอำนาจสั่งการเรียกพลผู้ใดประสงค์จะสั่งการเรียกพล ให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการเรียกให้ตามนัยแห่งกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในรายละเอียดของการเรียกพลให้เป็นไปตามความประสงค์ของทางราชการทหาร

การแบ่งประเภทกำลังพล

ประเภทนายทหารสัญญาบัตร 

  1. นายทหารสัญญาบัตรประจำการ หมายถึง นายทหารสัญญาบัตรซึ่งมีตำแหน่งราชการประจำการในกระทรวงกลาโหม
  2. นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง หมายถึง นายทหารสัญญาบัตรซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารสัญญาบัตรประเภทนี้ (โอนไปรับราชการในกระทรวงอื่น)
  3. นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน หมายถึง นายทหารสัญญาบัตรซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารสัญญาบัตรประเภทนี้ โดยถืออายุเป็นเกณฑ์ คือ ยศ ร.ต. - ร.อ. อายุไม่เกิน 45 ปี, ยศ พ.ต. - พ.ท. อายุไม่เกิน 50 ปี และ ยศ พ.อ. - นายพล อายุไม่เกิน 55 ปี
  4. นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ หมายถึง นายทหารสัญญาบัตรซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารสัญญาบัตรประเภทนี้ โดยมีอายุพ้นเกณฑ์นายทหารสัญญาบัตรกองหนุนคือ  ยศ ร.ต. - ร.อ. อายุไม่เกิน 55 ปี, ยศ พ.ต. - พ.ท. อายุไม่เกิน 60 ปี และ ยศ พ.อ. - นายพล อายุไม่เกิน 65 ปี
  5. นายทหารสัญญาบัตรพ้นราชการ หมายถึง นายทหารสัญญาบัตรซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารสัญญาบัตรประเภทนี้ โดยถูกปลดและถูกถอดยศ หรือมีอายุพ้นเกณฑ์นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการคือ  ยศ ร.ต. - ร.อ. อายุไม่เกิน 55 ปี, ยศ พ.ต. - พ.ท. อายุไม่เกิน 60 ปี และ ยศ พ.อ. - นายพล อายุไม่เกิน 65 ปี
  6. นายทหารพิเศษและผู้บังคับการพิเศษ เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ไม่มีหน้าที่ราชการประจำในหน่วยที่สังกัดนั้นแต่อย่างใด
  • นายทหารพิเศษ คือ ผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้มียศนายทหารเป็นพิเศษในสังกัดหน่วยทหาร หรือผู้มียศทหารอยู่แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษในหน่วยใดหน่วยหนึ่ง
  • ผู้บังคับการพิเศษ คือ นายทหารซึ่งทรงพระกรุณาาโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการพิเศษในหน่วยใดหน่วยหนึ่ง
ประเภทนายทหารประทวน
  1. นายทหารประทวนประจำการ หมายถึง นายทหารประทวนซึ่งมีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม
  2. นายทหารประทวนกองหนุน หมายถึง นายทหารประทวนซึ่งไม่มีตำแหน่งประจำในกระทรวงกลาโหม และกองทัพบก สั่งให้นายทหารประทวนกองหนุน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ นายทหารประทวนที่ปลดจากประจำการ และอยู่ในชั้นกองหนุน และทหารกองเกินซึ่งสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหารและเมื่อสอบวิชาทหารได้ตามหลักสูตรแล้ว จึงนำตัวขึ้นทะเบียนกองประจำการปลดเป็นกองหนุน และจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายทหารประทวนกองหนุนโดยอยู่ในประเภทกองหนุนชั้นต่างๆ รวม 23 ปี
  3. นายทหารประทวนพ้นราชการ หมายถึง นายทหารประทวนซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497

ประเภทพลทหาร และ ส.ต.กองประจำการ

  1. ทหารกองเกิน หมายถึง ผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารแล้ว
  2. ทหารกองประจำการ หมายถึง ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้รับราชการในกองประจำการ จนกว่าจะได้ปลดตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
  3. ส.ต.กองประจำการ หมายถึง ทหารกองประจำการผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากหน่วย เข้าศึกษาหลักสูตร ส.ต.กองประจำการ เมื่อจบหลักสูตรจะได้รับการแต่งตั้งยศเป็นสิบตรี เมื่อปลดเป็นกองหนุนจะเรียกว่า "ส.ต.กองประจำการกองหนุน"
  4. ทหารประจำการ หมายถึง ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ
  5. ทหารกองหนุน หมายถึง
  • ทหารซึ่งรับราชการในกองประจำการครบกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
  • ทหารซึ่งปลดจากกองเกิน เนื่องจากอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 2
  • ทหารซึ่งปลดออกจากกองประจำการ โดยต้องจำขัง หรือจำคุกมีกำหนดวันที่จะต้องลงทัณฑ์ หรือต้องโทษรวมได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือกระทำความเสื่อมเสียให้แก่ราชการทหาร และถูกปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 2
6. ทหารพ้นราชการ หมายถึง
  • ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ซึ่งอยู่ในชั้นที่ 3 มาครบกำหนด 6 ปีบริบูรณ์แล้ว
  • ทหารกองประจำการ ซึ่งพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคซึ่งไม่สามารถรับราชการทหารได้
  • ทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ซึ่งมีอายุครบ 46 ปีบริบูรณ์
  • ทหารกองหนุนประเภทที่ 2 ซึ่งพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคซึ่งไม่สามารถรับราชการทหารได้
  • ทหารกองเกินซึ่งพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคซึ่งไม่สามารถรับราชการทหารได้

การจัดชั้นนายทหารประทวนและพลทหาร

การเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ระบบ 1:1:1:3

  • 1 ตัวแรก เรียกว่า "การกำลังพลสำรองขั้นต้น (บัญชี 1)" คือ กำลังพลสำรองที่เข้าสู่ระบบฯ เป็นปีแรก ซึ่งจะได้รับการบรรจุลงในบัญชีบรรจุกำลังของหน่วยรับการบรรจุ หรือหน่วยต้นสังกัด ตามชั้นยศ/ตำแหน่ง/ชกท./อัตราและระดับความพร้อมรบที่ ทบ.กำหนด เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยจะต้องเข้ารับการฝึกให้มีความรู้ความสามารถตามตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งได้รับการฝึกเป็นหน่วยทางยุทธวิธีในระดับกองร้อย และระดับกองพันร่วมกับหน่วยต้นสังกัด
  • 1 ตัวที่สอง เรียกว่า "กำลังสำรองพร้อมรบ (บัญชี 2)" คือ กำลังพลสำรองที่อยู่ในระบบฯ เป็นปีที่ 2  และผ่านการฝึกฯ ในช่วงกำลังพลสำรองขั้นต้น (บัญชี 1) จะได้รับการเลื่อนมาบรรจุในบัญชี 2 เป็นระยะเวลา 1 ปี  โดยจะต้องเข้ารับการฝึกให้มีความรู้ความสามารถตามตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งได้รับการฝึกเป็นหน่วยทางยุทธวิธีในระดับกองพันร่วมกับหน่วยต้นสังกัด หากมีการระดมพล กำลังพลสำรองส่วนนี้จะถูกเรียกเข้ามาประจำการ ณ หน่วยรับการบรรจุหรือหน่วยต้นสังกัด เพื่อปฏิบัติการรบร่วมกับกำลังพลประจำการ กำลังพลประจำการเสริม และทหารกองเกิน
  • 1 ตัวที่สาม เรียกว่า "กำลังพลสำรองเตรียมพร้อม (บัญชี 3)" คือ กำลังพลสำรองที่อยู่ในระบบฯ เป็นปีที่ 3 จะได้รับการเลื่อนจากบัญชี 2 มาบรรจุในบัญชี 3 เป็นระยะเวลา 1 ปี กำลังพลสำรองส่วนนี้ จะบรรจุเป็นตัวอะไหล่ของกำลังพลสำรองพร้อมรบ ณ หน่วยต้นสังกัดเป็นลำดับแรก และอาจจะถูกเรียกเพื่อพัฒนาสัมพันธ์กับกำลังพลของหน่วยต้นสังกัด โดยกำหนด 1 กองพล เรียก 1 กองพัน
  • 3 ตัวสุดท้าย เรียกว่า "กำลังพลสำรองทั่วไป (บัญชี 4)" คือ กำลังพลสำรองที่อยู่ในระบบฯ ครบ 3 ปี จะเลื่อนจากบัญชี 3 มาบรรจุในบัญชี 4 เป็นระยะเวลา 3 ปี กำลังพลสำรองส่วนนี้จะบรรจุในส่วนกำลังทดแทนและขยายกำลังจัดตั้งหน่วยใหม่ในยามสงครามตามแผนการระดมสรรพกำลังเมื่อมีการระดมพล

หน้าที่ของกำลังพลสำรอง

  1. ในยามปกติ ต้องเข้ารับการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหารอย่างต่อเนื่องตามที่กองทัพกำหนด เพื่อทบทวนและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้มีความพร้อมรบเช่นเดียวกับกำลังประจำการ
  2. ในยามสงคราม ต้องเข้าปฏิบัติการรบร่วมกับกำลังประจำการได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ
กำลังพลสำรองผู้ใด เมื่อได้รับคำสั่งเรียกพล หรือหมายเรียกพลจากทางราชการ ขอให้ไปรายงานตัวตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดได้ในเอกสารนั้น การหลีกเลี่ยงหรือขัดขืน จะมีความผิดตามกฎหมาย

สิทธิของกำลังพลสำรอง

  • การโดยสารยานพาหนะจากภูมิลำเนาทหาร หรือภูมิลำเนาที่ประกอบอาชีพ ไปรายงานตัว และเดินทางกลับภูมิลำเนา เมื่อเสร็จสิ้นการเรียกพล ได้รับสิทธิดังนี้
  1. ได้รับการยกเว้นค่าโดยสารยานพาหนะของรัฐวิสาหกิจ คือ รถยนต์โดยสารของ บขส. และรถไฟ
  2. ได้รับเงินค่าพาหนะเหมาจ่าย ตามชั้นยศ (พันตรีขั้นไปรับ 270 บาท, ร้อยตรี - ร้อยเอก รับ 250 บาท, พลทหาร รับ 230 บาท)
  • ได้รับค่าเลี้ยงดูหรือเบี้ยเลี้ยงในอัตราเท่ากับกำลังประจำการในชั้นยศเดียวกัน คือ ส.ต. - พ.อ. รับวันละ 240 บาท
  • ได้รับค่าตอบแทนเงินเดือน (เฉพาะผู้ทำงานส่วนตัว หรือทำงานภาคเอกชน)
  • ได้รับเครื่องแต่งกายเพื่อใช้ในการฝึก
  • ได้รับสิทธิในเรื่องการรักษาพยาบาลขณะเข้ารับการเรียกพลฯ
  • สิทธิอื่น ตามที่ทางราชการกำหนดเพิ่มเติม

ภารกิจ

  • เรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร บัญชี 2/55 สนับสนุนให้หน่วย ป.พัน.713
  • เรียกพลเพื่อตรวจสอบ บัญชี 3/54 สนับสนุนให้หน่วย ปตอ.พัน.3
  • เรียกพลเพื่อตรวจสอบ บัญชี 1/57 สนับสนุนให้หน่วยในพื้นที่ จทบ.ล.บ. จำนวน 19 หน่วย
  • เรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อเลื่อนยศ - ฐานะ ประจำปี 57 สนับสนุน รร.กสร.นรด.