หน้าที่ของชายไทยตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497
ภูมิลำเนาทหารมีความสำคัญต่อทหารกองเกินอย่างมากเพราะเป็นสถานที่ที่ทหารกองเกินต้องไปรับการตรวจเลือก ในแต่ละท้องที่ก็มีจำนวนทหารกองเกินและความต้องการของฝ่ายทหารที่กำหนดมาต่างกัน การอยู่ในภูมิลำเนาทหารที่ต่างกันจึงมีผลต่อการตรวจเลือกเข้ารับกองประจำการ และเป็นช่องทางให้มีผู้หลีกเลี่ยงการเป็นทหารใช้หลบเลี่ยงไปได้ ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี ในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในพุทธศักราชนั้น โดยจะได้รับหมายเรียก สด.35 ทหารกองเกินซึ่งจะถูกเรียกมาตรวจคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการนั้น ต้องมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ขึ้นบัญชีทหารกองเกินหรือไม่มารับหมายเรียกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่ยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด ผู้นั้นได้มาขอลงบัญชีทหารกองเกิน หรือ มารับหมายเรียกแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เอกสารประกอบการตรวจเลือก
- บัตรประชาชน
- ใบสำคัญ สด.9
- หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร สด.35
- วุฒิการศึกษา (ถ้ามี)
การตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการ
ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกตามกำหนดหมายนั้น ในวันตรวจเลือกนั้นนอกจากหลักฐานทางทหารและบัตรประจำตัวประชาชนแล้วให้นำหลักฐานการศึกษามาแสดงด้วย ผู้ใดหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกหรือมาแต่ไม่อยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จเพื่อรับหลักฐานใบรับรองผลการตรวจเลือก (สด. ๔๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี ผู้กระทำความผิดตามข้อนี้นี่เองที่มักเรียกกันว่า หนีทหาร
บุคคลที่ได้รับการผ่อนผัน ต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก ถ้ามีจำนวนทหารกองเกินที่จะรับราชการเป็นทหารกองประจำการได้มากกว่าจำนวนที่ฝ่ายทหารต้องการ ให้ผ่อนผันแก่บุคคลดังต่อไปนี้
- บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบิดาหรือมารดาซึ่งไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพหรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู แต่ถ้ามีบุตรหลายคนจะต้องเข้ากองประจำการพร้อมกัน คงผ่อนผันให้คนเดียวตามแต่บิดาหรือมารดาจะเลือก ถ้าบิดาหรือมารดาไม่สามารถจะเลือกได้ก็ให้คณะกรรมการตรวจเลือกพิจารณาผ่อนผันให้หนึ่งคน
- บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรซึ่งมารดาตายหรือไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ และบุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงพี่หรือน้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาซึ่งบิดามารดาตาย ทั้งนี้เมื่อบุตรหรือพี่หรือน้องนั้นหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู
- บุคคลที่อยู่ในระหว่างการศึกษาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้อ้างสิทธิตาม (1) หรือ (2) แห่งมาตรานี้ ต้องร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอท้องที่ก่อนวันตรวจเลือกเข้ากองประจำการไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่ในกรณีพิเศษซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ร้องและผู้ร้องต้องร้องต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกตามมาตรา 30 อีกครั้งหนึ่ง นายอำเภอต้องสอบสวนหลักฐานไว้เสียก่อนวันตรวจเลือก เพื่อคณะกรรมการตรวจเลือกจะได้ตัดสินได้ทันที การขอผ่อนผันตาม (3) ให้แจ้งผ่านทางสถานศึกษา
ถ้าไม่สามารถจะผ่อนผันพร้อมกันทั้งสามประเภทได้ เพราะจะทำให้คนไม่พอจำนวนที่ฝ่ายทหารต้องการ ให้ผ่อนผันคนประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 รวมกันก่อน ถ้าคนยังเหลือจึงผ่อนผันคนประเภทที่ 3 ถ้าจำนวนคนในประเภทใดจะผ่อนผันไม่ได้ทั้งหมดต้องให้คนประเภทนั้นจับสลาก
การแบ่งจำพวกคน 4 จำพวก
- จำพวกที่ 1 ได้แก่ คนซึ่งร่างกายสมบูรณ์ดีไม่มีอวัยวะพิการหรือผิดส่วนแต่อย่างใด
- จำพวกที่ 2 ได้แก่ คนซึ่งมีร่างกายที่เห็นได้ชัดว่าไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงกับทุพพลภายตามกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ.2517)ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 เช่น ตาเหล่อ ช่องหูมีหนองเรื้อรังและทั้งแก้วหูทะเลคอพอก มือหรือแขนลีบหรือบิดเก ไส้เลื่อนลงถุง ฯลฯ
- จำพวกที่ 3 ได้แก่ คนซึ่งมีร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารทหารในขณะนั้นได้เพราะป่วย ซึ่งจะบำบัดให้หายไม่ได้ภายในกำหนด 30 วัน กรณีนี้ให้เรียกมาตรวจเลือกในคราวถัดไปเมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกได้ตรวจเลือกแล้วยังคงเป็นคนจำพวกที่ 3 อยู่รวม 3 ครั้ง ให้งดเรียก (การนับครั้งจะนับครั้งให้เฉพาะที่ได้ตัวมาตรวจเลือกถ้าตัวไม่มาตรวจเลือกไม่นับนครั้งให้)
- จำพวกที่ 4 ได้แก่ คนพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคซึ่งไม่สามารถรับราชการได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 74 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 เช่น ต้อหิน หูหนวกทั้งสองข้าง ลิ้นหัวใจพิการ หืด เบาหวาน กระเทย โรคจิต ใบ้ คนเผือกฯลฯ (ปลดพ้นราชการทหารประเภทที่ 2 ตามกฎหมาย) เมื่อตรวจร่างกายกำหนดคนเป็นจำพวกแล้ว คบจำพวกที่ 1 เจ้าหน้าที่จะนำตัวไปยังโต๊ะที่๓ เพื่อทำการวัดขนาด ส่วนคนจำพวกที่ 2, 3 และ 4 ให้ไปรอที่โต๊ะที่ 3 เพื่อทำการวัดขนาดส่วนคนจำพวกที่ 2, 3 และ 4 ให้ไปรอที่โต๊ะประธานกรรมการเพื่อตรวจสอบปล่อยตัว
การวัดขนาด
- กลุ่มที่ 1 เรียกว่า คนได้ขนาดคือ มีขนาดสูงตั้งแต่ 1 เมตร 60 เซนติเมตร ขึ้นไป และมีขนาดรอบตัวตั้งแต่ 76 เซนติเมตรขึ้นไป
- กลุ่มที่ 2 เรียกว่า คนขนาดถัดรอง คือ มีขนาดสูงตั้งแต่ ๑เมตร 59 เซนติเมตร ลงมาถึง 1 เมตร 46 เซนติเมตร และมีขนาดรอบตัวตั้งแต่ 76 เซนติเมตรขึ้นไป คนขนาดถัดรองนี้ หากมีคนขนาดสูงกว่าและได้ขนาดพอ (คนได้ขนาด)คณะกรรมการตรวจเลือกจะคัดออก ปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องจับสลาก
- กลุ่มที่ 3 เรียกว่า คนไม่ได้ขนาดคือ มีขนาดสูงไม่ถึง 1 เมตร 46 เซนติเมตร หรือขนาดรอบตัวไม่ถึง 76 เซนติเมตร อย่างใดอย่างหนึ่ง คนไม่ได้ขนาดนี้คณะกรรมการตรวจเลือกจะคัดออก ปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องจับสลากแต่อย่างใด เมื่อได้วัดขนาดและแบ่งคนเป็นกลุ่มต่าง ๆแล้ว ต่อไปก็จะเป็นวิธีการคัดเลือกผู้ที่จะต้องจับสลาก(แดง- เป็นทหาร , ดำ - ปล่อย) ต่อไป วิธีคัดเลือกนั้นผู้ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะส่งเข้าเป็นทหารได้คือคนจำพวกที่ 1 , คนจำพวกที่ 2 และคนผ่อนผัน ที่มีขนาดสูงตั้งแต่ 1 เมตร 46 เซนติเมตร และมีขนาดรอบตัว 76 เซนติเมตร ขึ้นไป โดยมีวิธีคัดเลือกดังนี้
- เลือกคำจำพวกที่ 1 ซี่งมีขนาดสูงตั้งแต่ ๑1เมตร 60 เซนติเมตร ขึ้นไปก่อนถ้ามีจำนวนมากกว่าที่ทางราชการต้องการ ก็ให้จับสลาก
- ถ้าคนจำพวกที่ 1 ซึ่งมีขนาดสูงตั้งแต่ 1 เมตร 60 เซนติเมตร ขึ้นไป มีไม่พอกับจำนวนที่ทางราชการต้องการก็ให้เลือกคนที่มีขนาดสูงถัดรองลงมา (159 ซม., 158 ซม.) ตามลำดับจนพอกับจำนวนที่ต้องการ
- ถ้าคนจำพวกที่ 1 (คนที่มีขนาดสูง 1 เมตร 60 เซนติเมตร ขึ้นไป และคนขนาดถัดรอง)มีไม่พอกับจำนวนที่ต้องการก็ให้เลือกคนจำพวกที่ 2 ถ้ายังไม่พออีก ก็ให้เลือกจากคนที่จะได้รับการผ่อนผัน
สำหรับผู้ที่จับสลากแดงโดยปกติจะต้องเป็นทหารมีกำหนด 2 ปีแต่ถ้าเป็นผู้มีคุณวุฒิพิเศษแล้วกฎหมายยังเปิดโอกาสให้สิทธิในการลดวันรับราชการได้ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 24 (พ.ศ.2508) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ทั้งนี้การขอสิทธิลดวันรับราชการทหารต้องนำหลักฐานแสดงคุณวุฒิพิเศษไปยื่นต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกโดยทำคำร้องไว้ พร้อมทั้งขอใบรับหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ด้วยผู้ที่อยู่ในกองประจำการน้อยกว่า 2 ปี ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2508) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหารพ.ศ.2497
ขั้นตอนการตรวจเลือก
1. รวมแถุวตามตำบลเพื่อเคารพธงชาติและอธิบายขั้นตอนให้กับทหารกองเกิน
2. เรียกชื่อ ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องกับเอกสารการเข้ารับการตรวจเลือก
3. ตรวจร่างกายและแบ่งคนเป็นจำพวก
4. วัดขนาดร่างกาย
5. ตรวจสอบและปล่อยตัว
6. ทำลายใบสำคัญ สด.43
7. ทำการจับสลาก
8. รับใบสำคัญ สด.43 ว่าได้ผ่านการตรวจเลือกฯ แล้ว
9. รับหมายนัด เพื่อเข้ากรมกอง สำหรับทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการ